รายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ รับสมัครผู้สนใจร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอน ปีการศึกษา 2568​

รายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ รับสมัครผู้สนใจร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไป เพื่อการพัฒนามนุษย์ ปีการศึกษา 2568​ จำนวน 84 คน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเรียนการสอนรายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ เป็นรายวิชาแกนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 (หลักสูตรไทยทุกหลักสูตร  ยกเว้นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์) ประมาณ 4,200 คนทุกปีการศึกษา เพื่อบ่มเพาะคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้นักศึกษาเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมด้วยสติและปัญญาเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในบริบทของตนเอง บูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม และเสนอวิธีแก้ปัญหาหรือแนวทางการจัดการได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของรายวิชาดังกล่าวใช้การบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์และการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน โดยจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องตลอดสองภาคการศึกษา มีการแบ่งนักศึกษาออกเป็น 42 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 100 คน และใช้อาจารย์ประจำกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน รวมจำนวนอาจารย์ผู้สอนทั้งสิ้น 84 คน  

เพื่อให้มีอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าวเพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอเชิญชวนอาจารย์ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์  ปีการศึกษา 2568

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและสมัครเข้าร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอนได้จากเอกสารและลิงก์ ดังต่อไปนี้ ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 20 มิถุนายน 2568

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา MUGE 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ ปีการศึกษา 2568

20 พฤษภาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา MUGE 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ ปีการศึกษา 2568 เพื่อให้การปรับปรุงและพัฒนารายวิชาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตามวงจร PDCA กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมอวานี พลัส หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนรายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีการศึกษา เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี รวบรวมและสรุปประเด็นปัญหาที่พบและข้อเสนอแนะจากนักศึกษา พิจารณาแนวทางแก้ไขและร่วมกันระดมความคิด เพื่อปรับปรุงเนื้อหา แผนการสอน และสื่อการสอน รวมทั้งกำหนดแนวทางและวิธีการการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการรายวิชาในปีการศึกษาถัดไป ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Design Thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ให้แก่คณะกรรมการบริหาร และอาจารย์ผู้สอน รายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์

16 พฤษภาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Design Thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ให้แก่คณะกรรมการบริหาร และอาจารย์ผู้สอน รายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ ณ ห้อง Workshop ริมน้ำ ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ผลถานุกิติถาวร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและสารสนเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้
 
ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ กลายเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรและสังคม การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Design Thinking จึงเป็นกระบวนการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการคิดอย่างสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม Design Thinking เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-Centered Design) ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง พัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ ทดลองสร้างต้นแบบ (Prototype) และทดสอบเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด การจัดกิจกรรมในรูปแบบเวิร์กช็อปยังช่วยกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้จากความผิดพลาด และส่งเสริมวัฒนธรรมการคิดเชิงนวัตกรรมภายในองค์กรหรือชุมชน ดังนั้น การจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Design Thinking จึงมีความสำคัญในการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาแนวคิดสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดนิทรรศการแนะนำหลักสูตรการศึกษา “อว. Job Fair 2025” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

10 พฤษภาคม 2568 บัณฑิตวิทยาลัย และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดนิทรรศการแนะนำหลักสูตรการศึกษากับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในงาน “อว. Job Fair 2025” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร Non-Degree หลักสูตร Upskill&Reskill แพลตฟอร์มการเรียนรู้ และเว็บไซต์รวมข้อมูลแหล่งเรียนรู้ Mahidol University Authentic Lifelong Learning หรือ MU-ALL ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
 
งาน “อว. Job Fair 2025” จัดขึ้นเพื่อเป็น “สนามสร้างอนาคต” ที่รวบรวมโอกาสทุกด้านไว้ในที่เดียว ทั้งการหางาน ฝึกงาน เรียนต่อ และการเสริมทักษะเพื่ออนาคต โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเยาวชน ได้ค้นพบเส้นทางที่ใช่และเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นอาชีพจริง

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Train the Trainer ครั้งที่ 2 ประจำปี 2568

29 เมษายน 2568 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรม Train the Trainer การใช้บอร์ดเกมเพื่อจัดการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 การ์ดเกมการเงิน “รู้หน้าไม่รู้หนี้” เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการเงิน (Finance Literacy) โดยทีมวิทยากรด้านการเงิน จาก SCB Academy ณ ห้อง 309 ชั้น 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
 
กิจกรรม Train the Trainer เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาอาจารย์ให้สามารถใช้ Gamification จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมเป็นทีม Learning Facilitator ในรายวิชา มมศท 105 การสร้างอนาคตที่มั่นคงทางการเงิน ซึ่งเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไป บัญชีกลาง ที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบรายวิชาศึกษาทั่วไปแบบยืดหยุ่น (GE PLUS) เพื่อนำแผนการสอนและเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรอบรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรหรือส่วนงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต (CLiL) ร่วมโครงการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม ประจำปี 2568

วันนี้ (24 เมษายน 2568) ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต (CLiL) ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 30 รูป ในโครงการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม ประจำปี 2568 “มหิดล ยลไทย วิถีธรรม” ณ บริเวณหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมคาบโครงงานที่ 10 “Project Expro Poster & Oral Presentation” ประจำปีการศึกษา 2567

วันที่ 22 เมษายน 2568 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต จัดกิจกรรมคาบโครงงานที่ 10 “Project Expro Poster & Oral Presentation” ซึ่งเป็นกิจกรรมการนำเสนอโครงงานของนักศึกษาในรายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ (MUGE 100 General Education for Human Development) ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 และ 24-25 เมษายน 2568 ณ อาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
 
Project Expro Poster & Oral Presentation จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงาน โดยเป็นการสรุปผลงานของโครงงานที่จะเน้นในเรื่องของการบูรณาการความรู้เพื่อสังคม สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการเชื่อมโยงแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกว่า SDG นักศึกษาจะได้ฝึกรูปแบบของการพูด การนำเสนอ การเขียนรายงาน รวมถึงการทำโปสเตอร์ ซึ่งเป็นการเน้นของการเรียนรู้เรื่องของการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ

ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีกับอาจารย์ที่ได้รับรางวัล “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปแบบยืดหยุ่น (GE Plus)”

3 เมษายน 2568 อาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีกับอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปแบบยืดหยุ่น (GE Plus) ที่ได้รางวัล “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปแบบยืดหยุ่น (GE Plus)” ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

โดยในปีการศึกษา 2567 มีอาจารย์ผู้เข้ารับรางวัล “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปแบบยืดหยุ่น (GE Plus)” จำนวน 13 ท่าน ดังนี้
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ จินตโกวิท
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิรา แสงศิริ
           อาจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย ธาราวัชรศาสตร์
           อาจารย์ ดร.กันตพงศ์ สินอาภา
           อาจารย์ ดร.ประภาพรรณ ซอหะซัน จุฑามาศ
           รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์
           อาจารย์ ดร.ศศิมา วรหาญ
           อาจารย์ ดร.ชลชัย อานามนารถ
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารมย์ ตรีราช
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร
           รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์
           อาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต ร่วมแนะนำเทคนิควิเคราะห์ Skill Gap และวางแผน Upskill ในกิจกรรม Mahidol University Job Fair 2025

วันที่ 2 เมษายน 2568 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต ร่วมกิจกรรม “Mahidol University Job Fair 2025” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแนะนำเว็บไซต์รวมแหล่งเรียนรู้ MU-ALL (Mahidol Authentic Lifelong Learning) ของมหาวิทยาลัยมหิดล และแนะนำเทคนิคการใช้ AI เพื่อช่วยค้นหาตนเอง ค้นหา Skill Gap ตามตำแหน่งงานที่สนใจ และวางแผนการพัฒนาตนเองตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง

กิจกรรม “Mahidol University Job Fair 2025” จัดโดย กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2568 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมแลกเปลี่ยนรายละเอียดการทำงานในสายงานต่าง ๆ กับนักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MU-PIX ส่งเสริมความรู้ด้านการเงินแก่นักศึกษา

วันที่ 2 เมษายน 2568 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่บูรณาการกับหลักสูตร (Mahidol University Program Integrated Experience หรือ MU-PIX) เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่นักศึกษาหลักสูตรทางด้านศิลปศาสตร์ ณ ห้อง 133 อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
 
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณศรวณีย์ พรมเสน วิทยากรผู้มีความรู้ด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงประสบการณ์ในการวางแผนพัฒนาตนเองเพื่ออนาคตที่มั่นคงทางการเงิน และเป็นศิษย์เก่าจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนกับเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ