GE Cover

วิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน เป็นผู้ตระหนักรู้ถึงการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา เป็นผู้ที่สามารถสร้างโอกาสและคุณค่าให้ตนเองและสังคม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก เป็นบุคคลที่ดำรงตนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีจริยธรรมและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง รู้คุณค่าและรักษ์ชาติกำเนิด ร่วมมือรวมพลังเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคม (ที่มา: ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565)

หลักสูตรระดับปริญญาตรีทุกหลักสูตรในประเทศไทย จะประกอบด้วยรายวิชา 3 หมวด ได้แก่ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่มุ่งพัฒนานักศึกษาให้ “รู้รอบ” หมวดวิชาเฉพาะ ที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความ “รู้ลึก” เกี่ยวกับวิชาชีพหรือสาขาวิชาที่เรียนอย่างลึกซึ้ง และปฏิบัติงานได้ และ หมวดวิชาเลือกเสรี ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนวิชาตามความถนัดหรือสนใจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใดๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด 

นักศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีทุกคนทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ จะต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้ครบตาม จำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำ ที่หลักสูตรกำหนด (ไม่ได้นับจำนวนวิชา แต่นับจำนวนหน่วยกิตรวม) ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะกำหนดจำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำไว้แตกต่างกัน จำนวนหน่วยกิตรวม และจำนวนหน่วยกิตรายวิชาศึกษาทั่วไปแต่ละภาคการศึกษาที่นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนนี้ สามารถตรวจสอบได้จากเอกสาร รายละเอียดหลักสูตร หัวข้อ “โครงสร้างหลักสูตร” และ “แผนการศึกษา” ซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหลักสูตร/ภาควิชา/คณะ หรือสอบถามได้จากอาจารย์ที่ปรึกษา

สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรไทย มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดโครงสร้างหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ระดับปริญญาตรี (หลักสูตรไทย) พ.ศ. 2566 กำหนดรายวิชาที่นักศึกษาจะต้องเรียนไว้ แบ่งได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  1. รายวิชาศึกษาทั่วไปแกน หมายถึง กลุ่มรายวิชาบังคับที่นักศึกษาทุกคนในหลักสูตรไทยต้องลงทะเบียนเรียนและสอบให้ผ่านจึงจะสำเร็จการศึกษา รวมแล้วไม่น้อยกว่า 11 หน่วยกิต ประกอบด้วย
    • รายวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ (3 หน่วยกิต) เป็นรายวิชาเรียนรวมที่ต้องลงทะเบียนในชั้นปีที่ 1 ตลอดทั้งสองภาคการศึกษา (ยกเว้น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ให้เรียนรายวิชาที่มีเนื้อหาเทียบเคียงกันที่จัดการเรียนการสอนโดยคณะแทน)
    • รายวิชากลุ่มภาษา มหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาเรียนรายวิชาภาษาไทย 1 วิชา (2 หน่วยกิต) และรายวิชาภาษาอังกฤษ 2 วิชา (รวม 4 หน่วยกิต) เป็นวิชาบังคับ วิชาภาษาเรียนภาคต้นหรือภาคปลาย ส่วนรายวิชาภาษาอังกฤษเรียนภาคการศึกษาละ 1 วิชา โดยจัดกลุ่มเรียนตามระดับผลคะแนนภาษาอังกฤษแรกเข้าของนักศึกษา (ยกเว้นคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ให้เรียนรายวิชาที่มีเนื้อหาเทียบเคียงกันที่จัดการเรียนการสอนโดยคณะแทน)
    • รายวิชากลุ่ม MU Literacy นักศึกษาจะต้องเลือกเรียนจากกลุ่มรายวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้มีหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 2 หน่วยกิต
  2. รายวิชาศึกษาทั่วไปเลือก หมายถึง รายวิชาอื่น ๆ นอกเหนือจากรายวิชาแกนที่นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนให้มีหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 13 หน่วยกิต รายวิชากลุ่มนี้จะจัดกลุ่มเป็น Literacy ต่าง ๆ ได้แก่ Health Literacy, Science and Environment Literacy, Intercultural and Global awareness Literacy , Civic Literacy และ Finance and Management Literacy นักศึกษาจะต้องเลือกเรียนให้ครบทุกกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 1 หน่วยกิต รายวิชาที่เรียนอาจเป็นรายวิชาบัญชีกลางของมหาวิทยาลัยที่เปิดให้นักศึกษาทุกหลักสูตรสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนได้ หรือเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เปิดให้เฉพาะหลักสูตร/ส่วนงานลงทะเบียนเรียน

(หมายเหตุ – สำหรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2566 บางหลักสูตรอาจมีการกำหนดโครงสร้างที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เนื่องจากอิงตามประกาศ โครงสร้างหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ระดับปริญญาตรี (หลักสูตรไทย) พ.ศ. 2565)

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกลุ่มหมวดวิชาศึกษาทั่วไปไว้ 6 กลุ่ม เรียนว่า Literacy ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับการพัฒนาให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน Literacy ในศตวรรษที่ 21 ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ประกอบด้วย 

  1. MU Literacy – ความรอบรู้เกี่ยวกับข้อมูลและคุณค่าที่เป็นสาระสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล มีทักษะในการปฏิบัติและเจตคติที่เห็นคุณค่าของความเป็น “คนมหิดล” มีความรู้ ทักษะและเจตคติในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เป็นความรู้และทักษะทางเทคนิคในวิชาชีพและความรู้และทักษะเสริม (soft skill) เพื่อเป็นปัญญาของแผ่นดิน  มีภาวะผู้นำ คุณธรรม จริยธรรม เป็นนายแห่งตน รู้แจ้ง เห็นจริง สมเหตุ สมผล กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์นวัตกรรม “มุ่งมั่นในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ มุ่งผลเพื่อผู้อื่น โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง
  2. Health Literacy – ความรอบรู้ทางสุขภาพ หมายถึง ความสามารถและทักษะในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเพื่อวิเคราะห์และประเมินการปฏิบัติและจัดการตนเอง เพื่อให้เป็นผู้มีสุขภาพที่ดีทางด้านสุขภาพกาย (Physical Health) สุขภาพจิต (Mental Health) สุขภาพสังคม (Social Health) และ สุขภาพจิตวิญญาณ (Spiritual Health) รวมทั้งสามารถชี้แนะเรื่องสุขภาพต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชนได้
  3. Science and Environment Literacy – ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งการบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อการตระหนักรู้และตัดสินใจในการมีส่วนร่วมในกิจการพลเมืองที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อมและการมีจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตนในการดูแล สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืน
  4. Intercultural and Global awareness Literacy – วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงภาษา ศิลปวิทยา ความเชื่อ สิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มความหลากหลายทางสภาพแวดล้อม/วัฒนธรรม ความสามารถในการเข้าใจ ประเพณี กิจกรรม และประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนจากหลากหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมกับประเพณี กิจกรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านพื้นที่การแสดงออกทางวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ความตระหนักเกี่ยวกับโลก  คือ การคิดเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวบนโลกนี้ ว่ามีความสัมพันธ์กัน การกระทำใด ๆ ต่างเกิดผลกระทบต่อความเป็นไปในโลก
  5. Civic Literacy – การรู้จักสิทธิ บทบาทหน้าที่ และมีความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคม ที่มีส่วนร่วมกันทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเข้มแข็ง
  6. Finance and Management Literacy – ความเข้าใจและปฏิบัติเป็น ในด้านการเงิน เศรษฐกิจ การจัดการ และการเป็นผู้ประกอบการ จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้

อย่างไรก็ดี บางหลักสูตรที่มีการปรับปรุงก่อนมหาวิทยาลัยมีประกาศกำหนด Literacy ในศตวรรษที่ 21 อาจมีวิธีการจัดกลุ่มรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่แตกต่างไปจากรายวิชา 6 Literacy ข้างต้น เช่น แบ่งเป็นกลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กลุ่มสุขภาพและนันทนาการ และกลุ่มภาษา เป็นต้น นักศึกษาสามารถตรวจสอบ Literacy และกลุ่มของรายวิชาที่ต้องการเลือกลงทะเบียนเรียนได้จากฐานะข้อมูลรายวิชาศึกษาทั่วไป และจากตารางรายวิชาที่เปิดสอนในแต่ละภาคการศึกษา เพื่อจะได้เลือกลงทะเบียนเรียนได้ตรงงามข้อกำหนดของหลักสูตร

หมายเหตุ – บางหลักสูตรมีการกำหนดจำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำของแต่ละ Litercay หรือแต่ละกลุ่มวิชาเพิ่มเติมด้วย สามารถตรวจสอบได้จากเอกสาร รายละเอียดหลักสูตร หัวข้อ “โครงสร้างหลักสูตร” หรือสอบถามได้จากอาจารย์ที่ปรึกษา

รายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปจะตัดเกรดแบบ O/S/U เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเลือกเรียนรายวิชาตามความสนใจและมุ่งที่การบรรลุผลลักธ์การเรียนรู้ของรายวิชา โดยไม่ต้องกังวลว่าการเลือกเรียนวิชาที่ท้าทายจะมีผลต่อเกรดเฉลี่ย

  • O หมายถึง Outstanding หรือ โดดเด่น
  • S หมายถึง Satisfactory หรือ ผ่าน
  • U หมายถึง Unsatisfactory หรือ ไม่ผ่าน

อย่างไรก็ดี สำหรับหลักสูตรที่เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เปิดให้เฉพาะหลักสูตร/ส่วนงานลงทะเบียนเรียน และมีการปรับปรุงก่อนมหาวิทยาลัยมีประกาศเรื่องการตัดสินผลการศึกษาเป็น O/S/U อาจยังมีการตัดเกรดแบบระบบ Letter Grade หรือ A/B/C อยู่ 

กรณีได้ผลการศึกษาเป็นสัญลักษณ์ U หรือ “ไม่ผ่าน” ในรายวิชาแกนหรือรายวิชาบังคับจะต้องขอสอบแก้ตัว (re-exam) หรือลงทะเบียนเรียนใหม่อีกครั้งและสอบให้ผ่าน จึงจะสำเร็จการศึกษา แต่ถ้ากรณีได้ U ในวิชาเลือก จะไม่นับหน่วยกิตในรายวิชานั้น ๆ และต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันทดแทน เพื่อให้มีหน่วยกิตสะสมครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนด

รายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาตามแนวทาง Outcome-based Education หรือ OBE ซึ่งเน้นการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้หมวดวิชาศึกษาทั่วไป และผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชา (Course Learning Outcomes – CLOs) แล้วจึงออกแบบเนื้อหารายวิชา การจัดการเรียนการสอน และการวัดผลให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 

การสะสมหน่วยกิตรายวิชาในหมวดวิชาเลือกเสรี นักศึกษาสามารถเลือกเรียนรายวิชาใด ๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดได้ ดังนั้น จึงสามารถเลือกเรียนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อสะสมเป็นหน่วยกิตในหมวดวิชาเลือกเสรีได้ทุกรายวิชา ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากอาจารย์ผู้สอนในรายวิชานั้น ๆ ด้วย 

อย่างไรก็ดี ในแต่ละภาคการศึกษาจะมีกลุ่ม “รายวิชาเลือกเสรี” ซึ่งหมายถึงรายวิชาที่นอกเหนือจากรายวิชาศึกษาทั่วไปและรายวิชาเฉพาะ เปิดให้นักศึกษาเลือกลงทะเบียนเรียนด้วย นักศึกษาไม่สามารถเลือกเรียนรายวิชากลุ่มนี้เพื่อจะสมหน่วยกิตแทนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้

กรณีมีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับรายวิชาศึกษาทั่วไปต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับรายวิชาศึกษาทั่วไป สามารถสอบถามหรือข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 4 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล หรือสอบถามที่เพจ https://www.facebook.com/GenEdMahidolU

ถึงแม้จะเรียนอยู่ในหลักสูตร/คณะเดียวกัน แต่คนละชั้นปี เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรก็อาจมีการปรับโครงสร้างจำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำ แผนการศึกษา และรายวิชาที่กำหนดให้เรียนแตกต่างกันไปได้ “รุ่นพี่” จึงต้องพึงระวังและตรวจสอบข้อมูลให้ดีทุกครั้งก่อนจะให้คำแนะนำเรื่องการลงทะเบียนแก่ “รุ่นน้อง